Connect with us

กีฬา

กลุ่มไทยออยล์-เทศบาลนครแหลมฉบัง ร่วมกับสมาคมกีฬาว่ายน้ำ

สานต่อโครงการ “ช่วยชีวิต ลดวิกฤตการจมน้ำ” ต่อเนื่องปีที่ 5 มุ่งส่งเสริมเด็กแหลมฉบังสุขภาพดี ว่ายน้ำเป็น ลดความสูญเสียจากการจมน้ำ

กลุ่มไทยออยล์และเทศบาลนครแหลมฉบัง ร่วมมือกับสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย สานต่อโครงการ “ช่วยชีวิต ลดวิกฤตการจมน้ำ” ต่อเนื่องปีที่ 5 ส่งเสริมทักษะการว่ายน้ำให้เยาวชนแหลมฉบังและบุตรหลานพนักงานกลุ่มไทยออยล์ เพื่อการมีสุขภาพที่ดี ว่ายน้ำเป็น และลดความสูญเสียจากการจมน้ำ

เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มไทยออยล์ร่วมกับเทศบาลนครแหลมฉบัง และสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย เปิดโครงการ “ช่วยชีวิต ลดวิกฤตการจมน้ำ” ประจำปี 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ณ สระว่ายน้ำ เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมีคุณเลอเลิศ อมรสังข์ ผู้จัดการประชาสัมพันธ์โรงกลั่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) พร้อมกับ คุณสันติ ศิริตันหยง รองนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง และพลเอก ธนิส พิพิธวณิชการ ที่ปรึกษาสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยและประธานบริหารโครงการพิเศษ สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการ

กลุ่มไทยออยล์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายจากการจมน้ำของเยาวชนในพื้นที่ เนื่องจาการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการสอนว่ายน้ำในโรงเรียนน้อยมาก และไม่ได้เป็นทักษะบังคับที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้มีการริเริ่มและดำเนินโครงการ “ช่วยชีวิต ลดวิกฤตการจมน้ำ” มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อายุ 6 – 15 ปี ได้มีโอกาสฝึกฝนเรียนรู้ทักษะการว่ายน้ำกับครูสอนว่ายน้ำที่เป็นบุคลากรของสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย และนิสิตจากมหาวิทยาลัยบูรพา ตามหลักสูตรที่กำหนด โดยจัดให้มีการฝึกสอนการช่วยเหลือตนเองจากการจมน้ำเพื่อความปลอดภัย อีกทั้งส่งเสริมให้เยาวชนได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาด้านสุขภาวะให้เยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพ สำหรับปีนี้ มีเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 300 คน

สำหรับโครงการ “ช่วยชีวิต ลดวิกฤตการจมน้ำ” ปีที่ 5 ประจำปี 2567 มีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 9เดือน ตั้งแต่ มกราคม ถึง กันยายน 2567 จัดการสอนว่ายน้ำโดยแบ่งการสอนให้กับเยาวชนอายุตั้งแต่ 6 –15 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา การจัดการเรียนจำนวน 10 ชั่วโมง โดยมีผลลัพธ์ที่คาดหวังคือเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ มีทักษะการว่ายน้ำที่ถูกต้อง เกิดกระบวนการเรียนรู้การช่วยชีวิตทางน้ำให้กับเยาวชนเพื่อเอาชีวิตรอดและลดอุบัติเหตุจากการจมน้ำในช่วงปิดเทอม ตามเกณฑ์ชี้วัดของหลักสูตรที่กำหนดจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 โดยตั้งแต่ปี 2563-2566 มีเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,500 คน

Continue Reading